วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เทคนิคการตกปลาล่าเหยื่อ

การตกปลาช่อน

ต้องออกตัวก่อนน่ะครับว่าไม่ใช้ผู้ที่มีความรู้มากมายหรือว่าเป็นเซียนมาจากที่ไหนถึงได้มาแนะนำวิธีการตกปลาช่อน แต่เป็นเพียงความต้องการที่จะแชร์ประสบการณ์และเทคนิคที่ได้เคยสัมผัสมาเท่านั้น การตกปลานั้นไม่มีอะไรแน่นอนตายตัวเสมอไป การได้หรือไม่ได้ปลานั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างมาก ฉะนั้นแล้วขอให้บทความนี้เป็นกรณีศึกษาอีกตัวอย่างหนึ่งก็แล้วกันน่ะครับ

ปลาช่อน

ตกปลาช่อน
ภาพปลาช่อน

ปลาช่อน ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Channa striata อยู่ในวงศ์ปลาช่อน (Channidae) มีส่วนหัวค่อนข้างโต รูปร่างทรงกระบอกยาว ครีบหางเรียวปลายมน ปากกว้าง ภายในปากมีฟันเขี้ยวบนเพดาน ลำตัวสีคล้ำอมมะกอกหรือน้ำตาลอ่อน มีลายเส้นทแยงสีคล้ำตลอดทั้งลำตัว 6 - 7 เส้น ด้านท้องสีจางตัดกับด้านบน ครีบสีคล้ำมีขอบสีเหลืองอ่อน ครีบท้องจาง มีขนาดลำตัวประมาณ 30 - 40 ซ.ม. ใหญ่สุดได้ถึง 1 เมตร โดยปลาช่อนชนิดนี้มีความพิเศษไปกว่าปลาช่อนชนิดอื่น ๆ คือ สามารถแถกไถตัวคืบคลานไปบนบกเพื่อหาที่อยู่ใหม่ได้ รวมทั้งสามารถหลบอยู่ใต้ดินในฤดูฝนแล้งเพื่อรอฝนมาได้เป็นแรมเดือน โดยสะสมพลังงานและไขมันไว้ ที่เรียกว่า "ปลาช่อนจำศีล" พบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำทั่วประเทศไทย พบไปจนถึงเอเชียใต้ พม่าและอินโดนีเซีย นิยมนำมาบริโภค ปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายทั้งสดและตากแห้ง เป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่สำคัญจนอาจเรียกได้ว่าเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง เลี้ยงได้ทั้งในบ่อและกระชังตามริมแม่น้ำ นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย โดยเฉพาะตัวที่สีกลายเป็นสีเผือกหรือปลาที่พิการตัวสั้นกว่าปกติ
ที่มา : วิกิพีเดีย

ลักษณะโดยทั่วไปของปลาช่อน

ปลาช่อนเป็นปลาล่าเหยื่อที่มีนิสัยดุร้ายหวงถิ่นโดยมันจะอาศัยอยู่เพียงตัวเดียวภายในบริเวณที่เป็นอณาเขตตามตอไม้หรือพงหญ้าใต้น้ำ ยกเว้นในช่วงเลี้ยงลูกที่ปลาช่อนจะจับคู่ช่วยกันเลี้ยงลูกหรือที่เรียกว่า ลูกคอก ปลาช่อนโดยส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเขตน้ำตื้น ลึกซักประมาณ 0.5-2 เมตร สังเกตจากประสบการณ์ส่วนตัวน่ะครับ เพราะปลาช่อนเป็นปลาที่ต้องมีการขึ้นมาจิบน้ำเอาฟองอากาศฉะนั้นมันจึงจะไม่อาศัยอยู่ในน้ำที่ลึก อาจจะมีช่วงที่ลงไปหากินหรือหลบภัยที่ปลาช่อนจะลงไปอยู่ติดกับพื้นดินใต้น้ำหรือมุดโคลน บริเวณที่ปลาช่อนชอบอาศัยหากินคือบริเวณริมตลิ่ง โดยจะอำพรางตัวอยู่คอยไล่งับลูกปลาหรือพวกฝูงปลาซิวตัวเล็ก ๆ หรือพวกกบเขียด ต่าง ๆ จุดสังเกตบริเวณที่ปลาช่อนทำการล่าเหยื่อคือ ให้คอยสังเกตดูฝูงประซิวที่วิ่งแตกกระจาย รวมทั้งกระโดดพ้นน้ำเป็นย่อม ๆ นั่นคือพวกมันถูกปลาช่อนไล่ล่านั่นเอง
ลูกคอก
ภาพปลาลูกคอก
อีกอย่างอันนี้เล่าจากประสบการณ์ เนื่องด้วยที่บ้านเกิดทำอาชีพทำนาและก็มีปลาช่อนเยอะ ตอนเด็ก ๆ ผมจะสังเกตเห็นรวมทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ก็อบอกเล่ามาเช่นกัน ก่อนการทำนาในหน้าฝน น้ำท่วมขังทุ่งนา ปลาช่อนจะออกจากบึงและห้วยมาผสมพันและเลี้ยงลูกคอกในนา เมื่อถึงเวลาที่ต้นข้าวเติบโต จะมีน้ำที่ขังอยู่ในนา ปลาช่อนตัวที่มาเกิดในนาก็จะหากินและเติบโต อยู่ในนานั่นเอง จุดสังเกตว่ามีปลาช่อนอยู่ในนาหรือไม่ ให้ไปเดินตามท้องนาในเวลาเย็น ๆ จะได้ยินเสียงปลาช่อนล่าเหยื่อ ไล่กัดลูกปลาและแมลงตามต้นข้าว เสียงดัง จ๊บ ๆ เลย ถ้ามีปลาช่อนเยอะเสียงจะดังระงมเลยที่เดียว ผ็เฒ่าผู้แก่จะใช้วิธี เอาเบ็ดโด่ ไม่รู้ว่าที่อื่นเรียกอย่างไรน่ะครับ แต่ที่บ้านเกิดผมเรียกอย่างนี้ ได้ยินมาว่าบางที่เรียก เบ็ดยก ลักษณะจะเป็นคันไม้ไผ่ยาว ๆ ประมาณ 5 เมตรขึ้น ใช้เบ็ดที่ทำขึ้นเองจากลวด ขนาดประมาณเบ็ดจิ๊ก ตัวใหญ่ ๆ เกี่ยวด้วยเขียด ตัวขนาดหัวแม่มือ หรือบางที่ก็ไช้ดอกกระเจี๊ยบ ดอกกระเจี๊ยบจริง ๆ น่ะครับ เกี่ยวที่ตัวเบ็ดแล้วก็ทำการหย่อนเข้าไปในนายกขึ้นลงเป็นจังหวะช้า ๆ เมื่อปลางับก็ยกขึ้นตัวลอยมาปลดเลย บางทีในนานั้นมีกบ กบก็กินเหยื่อพวกนี้ด้วยครับ บางที่เคยเห็นจะใช้ปลาหมอ เป็นเหยื่อ ปลาช่อนที่อาศัยอยู่ในนาจะตัวใหญ่และอ้วนมากเนื้อเยอะเพราะเหยื่อตามธรรมชาตินั้นเยอะมากทั้งลูกปลา แมลง เขียด ต่าง ๆ เยอะ ดังนั้นปลาที่ได้ในนาจะมีเนื้อที่อร่อยและอ้วนถ้วนสมบูรณ์ครับ
หยกปลาช่อน
ภาพการหยกปลาช่อน
เล่าต่อพวกปลาช่อนที่อาศัยอยู่ในนาเมื่อเข้าฤดูปลายฝนต้นหนาวหรือประมาณ เดือนกันยายนถึง ตุลาคม ช่วงนี้น้ำในนาจะเริ่มลด และข้าวก็กำลังออกรวง ปลาช่อนพวกนี้ก็จะทำการอพยพบออกจากนาโดยจะพากันหาบริเวณที่น้ำไหลหรือคันนาขาด ทั้งกระโดดและว่ายหาทางเพื่อที่ลงสู่แม่น้ำหรือบึงธรรมชาติต่อไป ช่วงนี้แหละที่ผู้เฒ่าผู้แก่จะใช้อุปกรณ์อีกชนิดหนึ่งในการจับปลาช่อนอพยพ ที่เรียกว่า อีโต่ง มีลักษณะคล้ายอวน
อีโต่ง
ภาพอีโต่ง
โดยจะใช้ตาขายจากแหเก่า ๆ มาผูกติดกับไม้สองท่อน ลักษณะจะเป็นคล้าย ๆ กับเปลหรืออะไรซักอย่าง โดยจะนำไปปักไว้กับบริเวณที่เป็นร่องน้ำ และจะเอาโคลนมาราดเป็นลานน้อย ๆเพื่อล่อให้ปลาช่อนมากระโดด การเอาโคลนมาราดนี้เป็นภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนที่เค้ารู้กันน่ะครับ เหมือนหลอกปลาว่าตรงนี้เป็นบริเวณที่น่าจะกระโดดน่ะ
เมื่อปลากระโดดก็จะไปติดห้อยอยู่กับ อีโต่งที่ปักไว้ โดยต้องใส่ตอนกลางคืนน่ะครับ เพราะปลามันจะทำกาอพยพ ตอนกลางคืน บางวันได้เยอะมาก ๆ น่ะครับ อันละ 10 ตัวก็ยังได้เลย
ฟังผมเล่ามาแล้วอย่าคิดว่าปลาช่อนจะหายหมดน่ะครับ เพราะหากินกันยาวเลย แต่ที่จริงแล้วชาวบ้านเค้าจะหากันแค่พอกินในแต่ละวันเท่านั้น เมื่อก่อนน่ะ แต่เดี๋ยวนี้คงไม่เหลือให้หากันแล้วเพราะหลายอย่างเปลี่ยนไปมาก จากหาอยู่หากินกลายเป็นการหาเพื่อจำหน่ายไปแล้วมีเท่าไหร่หมดไม่เหลือ
เล่าไปเยอะคราวนี้ก็มาถึงเรื่องของอุปกรณ์ตกปลาที่จะใช้ตกปลาช่อนกันน่ะครับ
ชุดเบ็ดตกปลาช่อน 
อุปกรณ์ต้องบอกก่อนว่าไม่ต้องไปคิดอะไรมากมียังไงก็ใช้อย่างนั้นได้ครับแต่อย่าใช้ชุดที่ใหญ่หรือว่าเล็กเกินไปก็แล้วกันเพราะอาจทำให้เกิดความเกะกะและไม่สมดุลกันได้ครับ
ชุดรอก 
รอกที่ใช้ตกปลาช่อนนั้นสามารถใช้ได้ทั้งรอกเบทและสปินนิ่ง ใช้ตัวไม่ต้องใหญ่มาก ถ้าเป็นสปินนิ่งก็ใช้ขนาดประมาณ BG13-15ก็ได้ครับกำลังดี เหตุผลที่ไม่ให้ใช้รอกตัวใหญ่ก็เพราะในวันหนึ่ง ๆ ที่เราออกไปตีปลาช่อนต้องขว้างเบ็ดหลายครั้งนับไม่ถ้วน ถ้าใช้รอกตัวใหญ่เกินไปมันจะหนักและส่งผลต่อการข้างเหยื่อทำให้เกิดการปวดเมื่อยแขนเป็นอย่างมากกลับมาบ้านถึงกับนอนปวดครวนครางเลยก็มี
ชุดคัน 
สำหรับชุดคันก็เลือกให้เข้ากับชุดของรอกที่เราเตรียมไว้ไม่ควรใช้คันที่แข็งเพราะจะทำให้แอคชั่นของเหยื่อออกมาไม่ดีและก็ไม่ควรใช้คันที่อ่อนมากจนเกินไปเช่นกัน ให้ใช้คันที่มีแอคชั่นปานกลาง ความยาวตั้งแต่ 5-7 ฟุต เพื่อไม่ให้เกิดความเกะกะหรือว่าหนักจนเกินไป
ชุดสายหรือเอ็น 
ชุดสายให้ใช้ขนาดของสายประมาณ 12 ปอนด์เป็นอย่างน้อย อาจจะประกอบสายหน้าด้วยก็ได้หรือบางครั้งก็ไม่ใช้แต่แนะนำว่าใช้สายหน้าจะเป็นการป้องกันปลากัดสายขาดได้ดี
เหยื่อตกปลาช่อน 
                หยื่อที่ใช้สำหรับตกปลาช่อนนั้นสามารถใช้ได้ทั้งเหยื่อที่เป็นเหยื่อจากธรรมชาติหรือเหยื่อจริง และเหยื่อที่ทำขึ้นเองหรือที่เราเรียกกันว่าเหยื่อปลอมนั่นเองครับ
เหยื่อที่จะกล่าวถึงอันดับแรกก็คือเหยื่อจากธรรมชาติหรือเหยื่อจริง เหยื่อจริงที่ใช้ตกปลาช่อนนั้นก็ได้แก่ เขียด ลูกปู ลูกปลาไส้เดือน หรือแม้แต่ ตับไก่ ปลาหมึกแห้ง ลูกอ้อด แมงกระชอน ก็ยังใช้ตกปลาช่อนได้
การใช้ไส้เดือน และปลาหมึกแห้งในการตกปลาช่อนนั้น ที่ผมว่ามันได้ปลาช่อนก็เพราะ เมือตอนเด็ก ๆ เด็กบ้านนอกเราจะชอบไปปักเบ็ด โดยจะใช้ไส้เดือน หรือปลาหมึกแห้งหรือไม่ก็ลูกเขียด การเกี่ยวไส้เดือนนั้น ให้เกี่ยวเป็นก้อนกลม ๆ ปักไว้ปริ่ม ๆ กับผิวน้ำส่วนเหยื่อปลาหมึกแห้งให้หั่นขนาดพอดี ขนาดประมาณ 3 คูณ 4 เซนติเมตร ปักให้จมน้ำประมาณ 3 นิ้ว กำลังพอดี ส่วนการใช้ลูกเขียดในการปักเบ็ด นั้นจะใช้ตัวเขียดประมาณหัวแม่มือ เกี่ยวบริเวณปากให้หมิ่น มาก ๆ (อาจโหดเล็กน้อย) เพื่อป้องกันเขียดตาย จากนั้นทำการปักให้ขาเขียดจุ่มน้ำ ประมาณเอวก็พอดี ข้อสำคัญในการใช้เขียดปักเบ็ดตกปลาช่อนนั้นก็คือ ห้ามใช้ลูกกบ เพราะปลาช่อนจะไม่กินลูกกบอันนี้ยืนยันเลยครับว่าไม่กินจริง ๆ พิสูจน์มาแล้ว ไม่ทราบว่าด้วยสาเหตุใดถึงไม่กิน จะมีแต่งูเท่านั้นที่มากิน อีกอย่างห้ามใช้เขียดจนา(รู้จักกันหรือเปล่า) หรือเขียดที่อยู่ในน้ำตัวสีเขียว ๆ ไม่รู้ชื่อว่าอะไร  เพราะเขียดพวกนี้ฉลาดมันรู้จักปลาช่อนดี ถ้ามันเห็นปลาช่อนมันจะไม่ดิ้นปลาจะไม่เห็นมันแล้วก็ไม่กิน แต่ถ้าเป็นเขียดอย่างอื่น เมื่อเจอปลาช่อน มันจะดิ้นตูมตามเพราะกลัว จึงเป็นการดึงดูดความสนใจของปลาช่อนทำให้ถูกกิน ที่กล่าวมานี้เป็นการตกด้วยเบ็ดปักหรือเบ็ดปักตามท้องนา เหยื่ออีกอันที่น่าสนใจก็คือ ลูกปู ใช้ปักเหมือนกันโดยเกี่ยวที่มุมกระดองของลูกปูกันมันตาย และจะปล่อยตัวปูให้เกาะกิ่งไม้หรือก็หญ้าอยู่ตามธรรมชาติ ได้ปลาช่อนเหมือนกัน ก็ใช้ลูกปูตก หรือปักต้องใช้ในหน้าหนาวเท่านั้น และตามคลองบึงที่มีปลาช่อนอยู่ได้ผลดีมาก ที่เล่ามาเป็นการตกปลาแบบสมัยก่อน ถ้าเป็นปัจจุบันก็จะใช้เขียดผูกติดกับตัวเบ็ดขว้างออกไปแล้วลากกลับมาเหมือนกับเหยื่อปลอม หรือใช้ตับไก่ ขว้างรอให้ปลามากิน หรือไม่ก็จะเกี่ยวลูกปลาสร้อยผูกกับทุ่นลอย ปล่อยรอให้ปลาช่อนมากัดเอง
เขียดไส้เดือน
เหยื่อจริง
เหยื่อแบบต่อมาคือเหยื่อปลอม 
                เหยื่อปลอมเป็นเหยื่อที่คนเราผลิตขึ้นมาโดยการเลียนแบบเหยื่อจากธรรมชาติทั้งปลาหรือ กบ เขียด ต่าง ๆ
เหยื่อปลอมที่ใช้สำหรับตกปลาช่อนชนิดแรกที่จะพูดถึงก็คือ 
เหยื่อประเภทผิวน้ำ
เหยื่อผิวก็จะได้แก่เหยื่อในตระกูลกบทั้งหลาย รวมถึงพวกปอบเปอร์ และเหยื่อใบพัดทั้งหลายโดยจะใช้เหยื่อที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนักในการตกปลาช่อน เทคนิคง่าย ๆ คือตีเข้าหมายตามจุดที่คิดว่ามีตัวแล้วลากกลับมา เร็วหรือช้าต้องทดลองเองเพราะบางวันลากเร็วปลากินบางวันต้องลกช้าถึงกินไม่ตายตัวครับ ส่วนจะตีเข้าในแต่ละหมายซักกี่ไม้นั้นก็แล้วแต่ความถนัดครับ บางจุดต้องตีถึง สิบกว่าไม้ถึงจะกินก็มีบางจุดไม้เดียวก็เห็นผลครับ เทคนิคอีกอย่างที่อยากแนะนำคือหากเราอยู่บนเรือถ้าตีชิดตลิ่งมาก ๆ แนะนำให้ตีขึ้นตลิ่งเลยแล้วกระตุกเหยื่อลงน้ำให้เหมือนกับกบกระโดดลงน้ำครับปลาช่อนจะงับที่ทันทีที่เหยื่อลงน้ำจากประสบการของผมเอง
เหยื่อปลาช่อนเหยื่อปลาช่อน
เหยื่อผิวน้ำ

เหยื่อดำตื้นและดำลึก
เหยื่อดำตื้นและดำลึก เป็นเหยื่อปลอมที่ทำขึ้นมาเลียนแบบลูกปลาตัวเล็ก ๆ ทั้งเหยื่อดำตื้นละดำลึกนั้นจะมีแอคชั่นที่คล้ายคลึงกันเพียงแต่ทำงานในระดับความลึกที่แตกต่างกันเท่านั้น เหยื่อดำลึกดำตื้นจะใช้ได้ผลดี ในหมายที่เป็นร่องน้ำโล่งไม่มีสาหร่ายหรือสวะใต้น้ำ เหยื่อประเภทนี้มีหลายสี หลายขนาด แต่ถ้าใช้ตกปลาช่อนแนะนำให้ใช้ขนาดที่ไม่ใหญ่มากจะได้ผลดี
เหยื่อประเภทนี้ก็ได้แก่ เหยื่อพวกปลัก สปินเนอร์เบท สปูน  หรือ หนอน และกระดี่เหล็ก โดยเฉพาะกระดี่เหล็ก ถ้าเป็นหมายอย่างที่ว่ามาก่อนหน้านี้นำว่าได้ผลดีมากครับ แหล่งน้ำที่โล่งกว้างไม่มีพวกตอไม้หรือสาหร่ายใต้น้ำต้องกระดี่เหล็กเท่านั้น หรือจะเป็นปลายาง หนอนยาง เบ็ดจิ๊กก็ได้แต่เหยื่อพวกนี้ใช้งานได้หลากหลายกว่ากระดี่เหล็ก เพราะสามารถนำไปตกในคลองแคบ ๆ ก็ได้ ได้ผลดีเช่นกันครับ
เหยื่อปลาช่อน
เหยื่อดำตื้น
เทคนิคพื้นฐาน 
อย่างที่บอกไปแล้วว่าการตกปลาช่อนนั้นไม่มีอะไรตายตัวแต่หลัก ๆ แล้วก็คือการตีเหยื่อเข้าที่หมายแล้วลากรอให้ปลากิน การตีเหยื่อเข้าหมายให้สังเกตจุดที่คิดว่ามีตัวอปลาช่อนอยู่เช่น ตามริ่มตลิ่งที่มีลูกปลาโดดหรือแตกกระจาย ข้างตอไม้  หรือพงหญ้า ใช้เหยื่อตีให้เลยหมายไปนิดหน่อยแล้วลากผ่านหากปลากัดอย่ารีบวัดในทันทีควรปล่อยเวลาซักนิดแล้วค่อยวัดแล้วลากกลับให้เร็วเพื่อป้องกันปลาลากสายเข้าตอไม้ใต้น้ำ
เหยื่อที่เรานำไปตกควรมีหลากหลายสีน่ะคับ เพราะบางวันสีนั้นใช้ได้ผลมาอีกวันอีกสีหนึ่งถึงใช้ได้ผล เหยื่อควรเตรียมให้พร้อม คีมปลดปลาอย่าลืมถ้าใช้มือระวังเงี่ยงเบ็ดด้วยเจ็บมากขอบอก สายหรือเอ็น ควรมีสำรอง หรือแม้แต่คันเผื่อมันหัก อุปกรณ์อื่น ๆ เช่น แว่นกันแดด หมวก สวิงตักปลา ถุงใส่ปลา กรณีเอากลับ ข้าวกล่อง น้ำ เผื่อหิวครับ
เทคนิคการตกปลาช่อนแบบของผมนี้หวังว่าจะให้ความรู้สำหรับนักตกปลามือใหม่ที่เริ่มจับคันบ้าง ไม่มากก็น้อย หวังเป็นอย่างยิ่งน่ะครับ แล้วเจอกันในบทความต่อไปครับ
ตกปลาช่อน
ภาพปลาช่อน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น